วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4265 ประชาชาติธุรกิจ
ดิจิทัลแมกาซีน "ทาง" ที่ต้องเลือก โอกาสใหม่...สื่อสิ่งพิมพ์ ?
คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่กลุ่มผู้ผลิตแมกาซีนต้องลุ้นระทึกกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าใส่เท่าช่วงนี้อีก
นับเนื่องจากคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ลดการ อ่านหนังสือที่เป็น "ฮาร์ดก๊อปปี้" เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการอ่านจากอินเทอร์เน็ต ส่งผลถึงตัวเลขโฆษณาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นับเนื่องจากกระแสดิจิทัลแพร่กระจายไปทุกอณู โดยมีเครื่องมือใหม่ ๆ เป็นสะพานเชื่อมต่อ
โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน และล่าสุดคือ"ไอแพด" ที่มองกันว่าอาจสร้างโมเดลใหม่ ๆ ให้กับวงการนี้
กระแสของไอแพดที่เข้ามาสั่นสะเทือนทำให้ผู้ผลิตแมกาซีน "หัวก้าวหน้า" เริ่ม ปรับตัวชนิด 360 องศา ด้วยการนำเสนอที่เป็นแมกาซีนในแบบ "ดิจิทัล พับลิชิ่ง แพลตฟอร์ม" จริง ๆ ไม่ใช่แค่การนำเนื้อหาไปแปะไว้ในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กเท่านั้น
แหล่งข่าวในวงการธุรกิจนิตยสารรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า ขณะนี้การดำเนินธุรกิจนิตยสารได้พัฒนาออกมาในรูปแบบ "ดิจิทัลแมกาซีน" เต็มตัว โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้จาก App Store ในไอแพด
บางหัวผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งเล่ม
บางหัวคนอ่านยังสามารถดาวน์โหลดได้เพียงบางส่วน บางคอลัมน์
จุดขายหลักของ "ดิจิทัลแมกาซีน" ในรูปโฉมใหม่คือการผลิตเนื้อหา รูปลักษณ์ที่ทำขึ้นเพื่อกลุ่มคนอ่านรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
สั้นกระชับ รูปสวยงาม มีลูกเล่นทำให้ผู้อ่านสามารถอินเตอร์แอ็กทีฟได้ด้วยตัวเอง
ในเชิงเนื้อหา ผู้ผลิตแมกาซีนสามารถเพิ่มคอนเทนต์ เพิ่มคอลเล็กชั่นของรูปในแต่ละคอลัมน์ ใส่ภาพเคลื่อนไหวเบื้องหลังการถ่ายแฟชั่นปก ใส่เสียงสัมภาษณ์ วิดีโอคลิป รวมถึงเพิ่มลูกเล่นใหม่ได้หลากหลายทั้งในส่วนที่เป็นคอนเทนต์ของแมกาซีนและส่วนที่เป็นโฆษณาสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ
และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมยังลิงก์ไปที่เว็บไซต์ของลูกค้าโฆษณา หรือสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง
พร้อมยกตัวอย่างค่ายเอเอสทีวี ผู้จัดการ ที่เปิดตัวนิตยสาร mars on iPad ที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีผ่านแอปพลิเคชั่น App Store เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งวางแผงแมกาซีน mars เล่มแรก ค่ายเซ็นเตอร์พ้อยท์ฯที่เพิ่งเปิดตัว Touch Magazine ที่มีการพัฒนาคอนเทนต์บนกระดาษมาเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่กำลังเตรียม ยกระดับ MAXIM จากอีแมกาซีนสู่ MAXIM on iPad เช่นเดียวกับพี่ใหญ่ค่ายอมรินทร์พริ้นติ้งฯที่เตรียมเปิดตัวบ้านและสวนบนแพลตฟอร์ม iPad เร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ได้ซอฟต์ลอนช์ไปเมื่องานบ้านและสวนแฟร์ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าย
อินสไพร์ฯก็กำลังจด ๆ จ้อง ๆ และจับตาเคลื่อนไหวของตลาดอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
"ดิจิทัลแมกาซีน" จึงถือเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ของแมกาซีนในยุคนี้ โดยมีนวัตกรรมของ "ไอแพด" เป็นตัวจุดประกาย และ "แท็บเลต" ทั้งหลายเป็นตัวขับเคลื่อน
เพราะไอแพดเป็นดีไวด์ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และวัตถุประสงค์หนึ่งของไอแพดคือใช้สำหรับอ่านคอนเทนต์ (E-reader) และทำให้การดาวน์โหลดหนังสือผ่านเว็บไซต์ในตลาดเมืองไทยเกิดได้เร็วขึ้น
"ส่วนตัวมองว่าแม้จะมีบางค่ายที่เริ่มพัฒนาโปรแกรมนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลแมกาซีนแล้ว แต่เชื่อว่าทุกค่ายยังอยู่ในช่วงทดลองตลาดมากกว่า"
จากการเปิดเผยข้อมูลของ "ศิริมีเดีย" ผู้ออกแบบโปรแกรมและสร้างดิจิทัล แมกาซีนในเครือศิริวัฒนา พบว่าผู้ประกอบการแมกาซีนทั้งรายเล็ก-ใหญ่จะเริ่มทยอยเปิดตัว "ดิจิทัลแมกาซีน" กันอีกเป็นระยะในช่วงก่อนปลายปีนี้ เพื่อรองรับงบฯโฆษณาในต้นปีหน้า
พร้อมคาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีแมกาซีนในรูปแบบ "ดิจิทัล" ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 10 หัว
"พชร สมุทวณิช" บรรณาธิการบริหารนิตยสาร mars บอกว่า ไอแพดจะเป็นดีไวด์ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างมากในอนาคต เพราะการบริโภคข่าวสารบนไอแพดนั้นเป็นการดาวน์โหลดข้อมูลที่ได้เลือกสรรแล้ว ที่สำคัญสามารถอ่านข้อมูลบนไอแพดได้เช่นเดียวกับการอ่านบนกระดาษ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการบริโภคคอนเทนต์
ส่วน "ชยะบูรณ์ ชวนประสิทธิ์" เอ็มดีเซ็นเตอร์พ้อยท์ฯ บอกว่า การทำดิจิทัลแมกาซีนเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันในเวอร์ชั่นที่เป็นดิจิทัลยังมีเนื้อหาที่หลากหลายกว่า และสามารถลงได้ทั้งข้อความหนังสือ เสียง ความถึงภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ
และยังเชื่อด้วยว่าจะเป็นแนวโน้มใหม่ของตลาดแมกาซีนไทย และมั่นใจว่าตลาดแท็บเลตจะขยายตัวและได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยอย่างรวดเร็วด้วย
ขณะที่ "ศิวัตร เชาวรียวงษ์" กรรมการ ผู้จัดการ "เอ็มอินเตอร์แอคชั่น" ผู้ให้บริการทางด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในเครือกรุ๊ปเอ็ม ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า การทำแมกาซีนบนไอแพดนั้นมีความเป็นไปได้สูงในเชิงรูปแบบธุรกิจ เนื่องจาก 1.สิ่งที่อยู่ในไอแพดในวันนี้ล้วนขายได้ 2.การเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของดิจิทัลทำให้สามารถเล่นมัลติมีเดียได้
"ดิจิทัล" ทำให้สื่อ "สิ่งพิมพ์" สามารถทำอินเตอร์แอ็กทีฟกับกลุ่มคนอ่านได้โดยตรง ซึ่งเป็นจุดที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังเสียเปรียบสื่ออื่น ๆ อยู่ในปัจจุบัน
และ 3.ได้ประโยชน์ในเชิงโฆษณาที่ให้สินค้าที่ลงโฆษณาสามารถทำอะไรที่ใหม่ ๆ ได้มากขึ้น
จึงเชื่อว่าในแง่ของ "คอนเซ็ปต์" เป็นไปได้ แต่ในเชิงธุรกิจจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นยังไม่แน่ใจนัก เพราะจำนวนผู้ใช้ไอแพดในเมืองไทยยังไม่ตอบโจทย์ในเชิงการตลาดนัก
เพราะ "รายได้" ที่จะเข้ามาจะสัมพันธ์กับจำนวนผู้ใช้เป็นหลัก
"ศิวัตร" บอกด้วยว่า งบฯโฆษณาที่เข้ามาใช้ช่องทางสื่อดิจิทัลในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เพียงแค่เว็บไซต์เป็นหลัก ซึ่งก็จะทะลักอยู่แค่กูเกิลและเฟซบุ๊กเท่านั้น
การมูฟจาก "กระดาษ" มาสู่ "ดิจิทัล" ของสื่อแมกาซีนในขณะนี้ถือว่ามาถูกทาง แต่จะถูกเวลาหรือไม่นั้นยังต้องใช้เวลา
แต่ถ้าจะทำเอา "สนุก" และมีคน "พูดถึง" และได้ พี.อาร์.ก็ถือว่าน่าสนใจ
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับสูงจาก "สตาร์คอมฯ" บริษัทวางแผนและซื้อสื่อโฆษณาที่มองในทิศทางเดียวกันนี้ว่า การขยับสู่ "ดิจิทัลแมกาซีน" ของกลุ่ม ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ในวันนี้ถือเป็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะแมกาซีนเป็นสื่อที่เจอทางตันและอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าต่อไปได้
โดยจะเห็นว่าค่ายที่ทำแล้วมักขายเป็นแพ็กเกจควบกับแมกาซีนในรูปแบบเดิม เพื่อให้นักการตลาดและเจ้าของสินค้าได้ทดลองซื้อและทดลองใช้ เพราะโดยรูปแบบยัง ค่อนข้างมีข้อจำกัดสูงในแง่ของการเปิดรับ
ทั้งนี้จากรายงานของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า ตลาดแมกาซีนโดยรวมในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 4.2 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.2% หลังจากที่ติดลบถึง 12% ในปี 2552 และติดลบอยู่ราว 4.47% ในปี 2551
การก้าวสู่ "ดิจิทัลแมกาซีน" ในวันนี้ จึงเหมือนเป็นทาง 2 แพร่ง เพราะตลาดบีบให้ค่ายแมกาซีนทั้งรายเล็ก-ใหญ่ยืนอยู่ที่เดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และการขยับมาเล่นในโลก "ดิจิทัล" ก็ใช่ว่าจะเป็นทางรอด หรือเป็นช่องทางในการสร้าง "รายได้" ใหม่ได้ในเร็ววันนี้
ในแง่การตลาด "ดิจิทัลแมกาซีน" ในวันนี้ จึงยังเป็นแค่ "สีสัน" และ "ลูกเล่น" ใหม่ทางการตลาดเท่านั้น
แต่ในอนาคตข้างหน้าเป็นเรื่องเหนือการคาดเดาที่ไม่มีใครกล้าสบประมาทแม้แต่น้อย
หน้า 17
No comments:
Post a Comment